ชื่อผลงานทางวิชาการ การพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้าง
ความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง
ชื่อผู้เสนอผลงาน นายบุญจันทร์ มูลกัน
สถานศึกษา โรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น
ปีที่จัดทำผลงาน 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง 3) เพื่อศึกษาผลการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูงตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในด้านความรู้ความเข้าใจความสามารถในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ความรู้ ความเข้าใจความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง พฤติกรรมการสอน ผลงานการพัฒนาการเรียนการสอนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของครู ผลการเรียนรู้พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหา ได้แก่ ผู้บริหารและครู จำนวน 21 คนได้จากการเลือกแบบเจาะจง 2) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม จำนวน 196 คน ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้นโดยใช้ตารางของ Krejcie and Morgan (1970) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ ได้แก่ 1) ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน 2) ครูผู้สอน จำนวน 8 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงโดยเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ละ1 คน 3) นักเรียน จำนวน 6 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยเป็นนักเรียนระดับชั้นละ 1 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบบทดสอบ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติวิจัยพื้นฐานได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้
1. สภาพปัจจุบันและความต้องการในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูงโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม พบว่า ผู้บริหารและครูผู้สอนมีความคิดเห็นโดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ด้านความต้องการ ในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง พบว่า ผู้บริหารและครูผู้สอนมีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. รูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูงประกอบด้วย องค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ ปัจจัยสนับสนุน องค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบคือ 1) การเตรียมองค์กรเพื่อการเรียนรู้ 2)สร้างค่านิยมและวิสัยทัศน์ร่วม 3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกัน 4) ภาวะผู้นำร่วม 5) เป้าหมายร่วม และองค์ประกอบเชิงกระบวนการ 5 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์ปัญหาศึกษาบริบทร่วมกัน 2) กำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อการพัฒนา 3) กำหนดแนวทางพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน 4) ดำเนินการตามกระบวนการศึกษาชั้นเรียน และ 5) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
3. ผลการประเมินการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูงในด้านความรู้ความเข้าใจ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพอยู่ในระดับดี และมีความสามารถสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง อยู่ในระดับดี ครูมีความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับดีมาก ความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง อยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก ครูมีพฤติกรรมการสอนอยู่ในระดับมาก ด้านผลงานการพัฒนาการเรียนการสอนของครูพบว่า ครูทุกคน มีผลงานสอดคล้องกับบทเรียน ด้านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของครู พบว่า ครูมีความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและมีการพัฒนาตนเองมากขึ้น ผลการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูงของนักเรียนพบว่า มีคะแนนความก้าวหน้า อยู่ในระดับสูงมาก
4. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
เพื่อเสริมสร้างความสามารถของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิดขั้นสูง พบว่า ครูมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด